ทางเท้าในลอนดอนช่วงเทศกาลที่เต็มไปด้วยผู้คน
“เดินก็เป็นเดินสิครับ จะเป็นขนส่งไปได้อย่างไร ไม่ได้ขนอะไรสักหน่อย?”
เพื่อจะดูว่า “การเดินเป็นการขนส่ง” อย่างไร คงต้องพิจารณาคำหลักสองคำนี้ก่อน คือ “การเดิน” กับ “การขนส่ง”
คำว่า “การเดิน” คงไม่ต้องอธิบายอะไร แต่คำว่า “การขนส่ง” ซึ่งตรงกับ transportation ในภาษาอังกฤษนั้น คนไทยมักเข้าใจว่า การขนส่งคือการนำสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ในความหมายที่ “สิ่งของ” นี้ไม่ได้รวมคนไว้ด้วย ในขณะที่ “transportation” หมายถึงการเคลื่อนย้ายทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งคน การที่ Ministry of Transport ของไทยเป็น “กระทรวงคมนาคม” นั้นมีความเป็นมาจากการที่ในช่วงแรกกระทรวงนี้ไม่ได้มีแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของเท่านั้น หากแต่รวมหน่วยงานที่เกี่ยวกับการสื่อสารไว้ด้วย ปัจจุบันเมื่อหน่วยงานด้านนี้ไม่ได้สังกัดกระทรวงนี้แล้ว จึงมีข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็น “กระทรวงการขนส่ง” แต่ยังมิได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด
ในความหมายนี้ “การเดิน” จึงเป็น “การขนส่ง” รูปแบบหนึ่งที่เคลื่อนย้ายคนด้วยตนเอง
การเดินไม่ใช่เรื่องเครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์ คือไม่ต้องมีชุดหรืออุปกรณ์เป็นการเฉพาะก็เดินได้ การเดินจึงทำได้ง่าย ถูก และดีเป็นอย่างยิ่งต่อทุกคน “การเดินเพื่อเดิน” คือแค่สักแต่เดินเล่นๆไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายอะไรเป็นการเฉพาะ ก็ให้ความรื่นรมย์ต่อทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว และการเดินเพื่อจะไปที่ไหนสักแห่ง(ในระยะที่เดินได้)เป็นวิธีการเดินทาง/ขนส่งที่ง่ายกว่าและถูกกว่าวิธีการขนส่งอื่นทุกอย่าง โดยเฉพาะการขับรถ ประเด็นสุดท้ายนี้สำคัญยิ่งและมักจะถูกมองข้ามไป ทั้งที่นี่เป็นสิ่งที่เราทุกคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย วางแผน และทำงานในด้านการขนส่งและการวางผังเมือง ควรเข้าใจ
ขณะนี้บทบาทของการขนส่งที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport – NMT) กำลังได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นอย่างกว้างขวางว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างเช่นในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนที่บราซิลเมื่อปี 2555 และแม้แต่ในรายงานของธนาคารโลก (อ่านรายงานฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับ NMT ได้ในเว็บไซต์ของสถาบันการเดินและการจักรยานไทย) สองส่วนหลักที่ประกอบเป็นการขนส่งที่ไม่ใช้เครื่องยนต์คือการเดินและการใช้จักรยาน ในขณะที่บทบาทของการใช้จักรยานได้รับการกล่าวถึงและเอามาใช้มากขึ้นๆ แม้ในความเป็นจริง ขณะนี้คนใช้การเดินเป็นวิธีการขนส่งในสัดส่วนของการขนส่งทั้งหมดไม่น้อยอยู่แล้ว การเดินในฐานะวิธีการขนส่งก็ยังมักถูกผู้บริหารการขนส่ง ผู้บริหารเมืองและประเทศ มองข้าม
ตัวอย่างเช่น การขนส่งลอนดอน (Transport for London – TfL) หน่วยงานด้านการขนส่งของมหานครลอนดอน ประกาศว่า “ขณะนี้การใช้จักรยานเป็นการขนส่งมวลชนแล้ว และต้องได้รับการปฏิบัติต่อในฐานะเช่นนั้น” แต่การขนส่งลอนดอนไม่ได้พูดถึงการเดินไว้เลย ทั้งที่การสำรวจการเดินทางระดับชาติ (National Travel Survey)ของอังกฤษครั้งล่าสุดพบว่า ร้อยละ 22 ของจำนวนเที่ยวการเดินทางทั้งหมดทำด้วยเท้า และสำหรับการเดินทางทั้งหมดแล้ว การเดินเป็นรูปแบบการขนส่งที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสอง เป็นรองก็เท่าแต่การเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถแวนเท่านั้น การเดินทางในระยะหนึ่งไมล์ หรือ 1.6 กิโลเมตร กว่าสามในสี่หรือร้อยละ 78 ทำด้วยการเดิน และแม้จะเพิ่มระยะทางขึ้นไปเป็นไม่เกินห้าไมล์หรือแปดกิโลเมตร การเดินก็ยังเป็นหนึ่งในสามของจำนวนครั้งของการเดินทางทั้งหมด
ส่วนในสหรัฐอเมริกาที่ใครๆ ก็รู้ว่าอเมริกันชนชอบใช้รถยนต์มากขนาดไหน ก็มีข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลคนเดินเท้าและจักรยาน (pedestrian and bicycle information center) ว่า มีชาวอเมริกันมากถึง 107.4 ล้านคน หรือราวร้อยละ 51 ของสาธารณชนที่เดินทาง ใช้การเดินเป็นวิธีการเดินทาง/ขนส่งเป็นประจำ โดยเฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ 3 วัน เมื่อดูลงไปที่วัตถุประสงค์ในการเดินจะพบว่า การเดินคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของจำนวนเที่ยวการเดินทางไปโรงเรียนและโบสถ์ทั้งหมด และร้อยละ 11.4 ของการเดินทางไปจับจ่ายซื้อของและไปใช้บริการต่างๆ
เท่าที่ทราบ ในไทยยังไม่มีข้อมูลในลักษณะนี้ ซึ่งควรจะมีการสำรวจศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต แต่ก็น่าจะคาดได้ว่า สัดส่วนของการเดินในวิธีการขนส่งทั้งหมดน่าจะสูงไปกว่าในสองประเทศนั้นเสียอีก
ทางเท้าที่เมืองเซนต์แคลร์ ถึงแม้จะกว้างไม่น้อย แต่ก็แทบจะเดินไม่ได้เลย เพราะร้านค้าเอาโต๊ะ เก้าอี้ ป้าย ฯลฯ มาวางขวางทางไว้ซะหมด เป็นปัญหาคล้ายในเมืองไทย
คนเดินเท้ามีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับใช้ในการเดินทาง/ขนส่งของตนเองเช่นกัน ที่เราเรียกว่า “ทางเท้า” แต่โครงสร้างพื้นฐานนี้มักจะไม่เหมาะสม(เช่น ไม่ราบเรียบ) ไม่พอเพียง(เช่น แคบเกินไป อีกทั้งบ่อยครั้งยังเต็มไปด้วยสิ่งเกะกะกีดขวาง) และไม่ปลอดภัย เช่น การข้ามถนนที่มียานพาหนะแล่นไปมาอันตรายและทำได้ยาก เพราะในสถานที่ส่วนใหญ่แล้ว พื้นที่ถนนได้รับการออกแบบไว้ให้ยานยนต์และในทางปฏิบัติก็ถูกยึดครองโดยยานยนต์ คนเดินเท้าต้องคอยเป็นเวลานานจึงจะได้ข้ามถนนที่มียานยนต์หนาแน่น ต้องเผชิญกับมลพิษทั้งทางอากาศและทางเสียงที่มาจากยานยนต์ และถ้ามีสัญญาณไฟให้ยานยนต์หยุดก็มักจะสั้นจนแทบไม่เพียงพอให้คนเดินข้ามเพราะต้องการให้การจราจรของยานยนต์ลื่นไหล
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเดินไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการขนส่ง จึงไม่ได้รับความสนใจและการเอาใจใส่ในแง่นั้นอย่างจริงจัง
คนเดินเท้าจึงถูกจัดให้เป็นเพียงแค่คนที่เดินเพื่อความเพลิดเพลิน ความรื่นรมย์ มากกว่าจะเดินเพื่อเป็นวิธีการในการขนส่ง การขนส่งทำด้วยยานพาหนะ โดยเฉพาะยานยนต์หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ จนก่อเกิดและพัฒนาขึ้นมาเป็น “วัฒนธรรม(การใช้)รถยนต์” (car culture) ความสะดวกสบายและการครอบงำของวัฒนธรรมรถยนต์ทำให้มีการจัดสรรพื้นที่เมืองอย่างเกินสัดส่วนที่เหมาะสมไปให้รถยนต์และจัดให้น้อยเกินไปสำหรับคนเดินเท้า ตราบใดที่การเดินยังไม่ได้ถูกมองว่าเป็นวิธีการขนส่งวิธีหนึ่ง รถยนต์ก็จะชนะเสมอ และการพยายามใช้การเดินเป็นวิธีการขนส่งจะถูกมองว่าเป็นเรื่องประหลาด เรื่องผิดปกติ เป็นสิ่งที่ทำเพราะคนๆนั้นไม่มีรถยนต์ หรือรถยนต์มีปัญหา การเดินลงไปบนถนนกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว เต็มไปด้วยความเสี่ยง และหลายคนจะหลีกเลี่ยงหากไม่จำเป็นจริงๆ ยิ่งกว่านั้น ยังมีการลดขนาดทางเท้าที่มีน้อยอยู่แล้วให้แคบลงไปอีก เพื่อเอาพื้นที่มาให้ยานยนต์ ดังตัวอย่างจากภาพของถนนเล็กซิงตันในมหานครนิวยอร์ค เปรียบเทียบสภาพในปัจจุบัน(ภาพบน)กับในอดีต(ภาพล่าง)
ถนนเล็กซิงตันในนิวยอร์ค ภาพบนคือในปัจจุบัน ภาพล่างคือในอดีต
การให้ความสำคัญกับการเดินในฐานะวิธีการขนส่งเริ่มต้นได้ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เดินได้สะดวก สบาย และปลอดภัย เช่น การมีทางเท้าที่กว้าง ราบเรียบ (และร่มรื่นหากอยู่ในเขตร้อน) มีทางให้ข้ามถนนได้สะดวกและปลอดภัย ฯลฯ โดยที่การสร้างความปลอดภัยให้คนเดินเท้าต้องไม่เป็นเหตุผลในการทำให้การเดินสะดวกหรือสบายน้อยลงในขณะที่สร้างความสะดวกสบายให้ยานยนต์เช่นเดิม ดังเช่น คนเดินเท้าต้องข้ามถนนได้ปลอดภัยและสะดวกสบายในระดับพื้นดิน ไม่ใช่ถูกบังคับให้ต้องข้ามสะพานสูงหรือมุดอุโมงค์ลอดถนน หรือเพื่อลดความเสี่ยง/โอกาสที่ยานยนต์จะชนคนเดินเท้า ต้องจำกัดความเร็วของยานยนต์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะในเมือง ไม่ใช่บังคับให้คนเดินเท้าต้องใช้เครื่องแต่งตัวที่มีสีจัดจ้านหรือสะท้อนแสง ดังเช่นที่เคยมีความพยายามผลักดันกฎหมายในลักษณะนี้ออกมาในบางประเทศ เพราะแม้จะเพิ่มความปลอดภัย แต่ก็ทำให้การเดินลดความสะดวกสบายลง
ภาพจำลองเมืองที่บังคับให้คนเดินเท้าต้องแต่งตัวด้วยวัสดุสะท้อนแสงเมื่อออกมาเดินถนนในเมือง
การเดินเป็นวิธีการขนส่งในระยะสั้นที่ถูก ง่าย ทำให้สุขภาพดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการขนส่งที่คนส่วนใหญ่ที่สุดสามารถทำได้ด้วยตนเองและทำได้อย่างสนุกสนานเพลินเจริญใจหากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับ ดังนั้นผู้บริหารบ้านเมืองทุกระดับจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ เห็นว่า การเดินเป็นการขนส่งรูปแบบหนี่งที่ผู้บริหารพื้นที่ทุกระดับต้องถือเป็นเรื่องสำคัญ และมีการพิจารณาอย่างจริงจัง นำไปผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน โครงการ และการจัดสรรงบประมาณด้านการขนส่ง และในความเป็นจริงควรได้รับความสำคัญในลำดับต้นๆ เช่นเดียวกับที่การใช้จักรยานได้รับอยู่ในขณะนี้
———————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการ สถาบันการเดินและการจักรยานไทย เขียนจากข้อมูลในบทความ Walking is transportation too ใน Treehugger.com