บันไดผลลัพธ์ 5 ขั้น บทสรุปจากโครงการชุมชนจักรยานปี3
ผ่านพ้นไปแล้วกับการสรุปถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะปีที่ 3 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 60 ชุมชน ใน 34 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
โดยเป็นที่น่าชื่นใจที่ ชุมชนต่างๆมีความร่วมไม้ร่วมมือ และมีเป้าหมายเดียวกันที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง เป็นประโยชน์กับชุมชนของตนเอง และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ กระบวนการสร้าง “ชุมชนจักรยาน” จากจุดเล็กๆเหล่านี้ หากขยายภาคีเครือข่ายไปได้มากเท่าไหร่ ก็จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพของชุมชน ของประเทศ และสังคมโลกในที่สุด
และจากการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมา เราได้สกัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และน่าจะเป็นแนวทางเพื่อสร้างชุมชนจักรยานที่สำคัญให้กับชุมชนอื่นๆได้
บันไดผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นในภาพรวมของโครงการ
1.เกิดการทำงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชน “เกิดคณะทำงานชุมชนจักรยาน” ซึ่งคณะทำงานที่มาจากสมาชิกในชุมชน ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันและดำเนินการโครงการฯในระยะยาวให้มีความยั่งยืน
2.ชุมชนให้ความสำคัญ และพร้อมสนับสนุนร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น มีการปรับสภาพแวดล้อมด้านกายภาพที่ถูกต้อง เพื่อเอื้อต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชุมชน
3.เกิดเวทีพี่เลี้ยง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งผลให้แกนนำชุมชนต่างๆ เกิดทักษะ สามารถนำวิธีการไปประยุกต์ เพื่อจัดกระบวนการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ และขยายเครือข่ายสร้างแนวร่วมแกนนำด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ปรับวิธีการทำงานระบบสุขภาพจากการรักษาเป็นการทำงานเชิงรุก คือเข้าหา เข้าถึง เข้าไปให้ความรู้ โดยมีโครงการชุมชนจักรยานเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการทำงาน
4.มีการกำหนดมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานในชุมชน และสามารถบูรณาการวิธีการให้สอดคล้องกับหน่วยงานกลุ่มต่างๆ ในเรืองของแนวทางส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชน
5.เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชน มีผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มขี้น
ทั้ง 5 ผลลัพธ์นี้ ล้วนคือผลงานของเครือข่ายชุมชนจักรยานที่ได้ร่วมกันสร้างให้เกิดจริง มาถึงบรรทัดนี้แล้ว เชื่อว่ายังมีมุมมองและประสบการณ์อันมีค่าจากสมาชิกชุมชนจักรยานฯในมิติอื่นๆอีกมากมาย แชร์ไอเดียกันเต็มที่เลยค่ะ เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน
(*โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักกองทุนสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพชุมชน โดยมีมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการโครงการฯ โดยเริ่มตั้โครงการแต่ปี 2557 เป็นต้นมา)