เมนูใหม่! ปลาทูทอดสอดไส้ “ไมโครพลาสติก”
อ่านคำนี้แล้ว บางคนที่เป็นนักอ่านรุ่นเก๋าหน่อยอาจจะนึกถึงนิยาย Sci-Fi ที่มีกลิ่นอายแบบไทยๆ อย่างงานของจันตรี ศิริบุญรอด อะไรแบบนั้น
แต่มันสนุกกว่านั้นตรงที่เมนูจานนี้อาจจะมาวางบนโต๊ะอาหารของคุณวันใดวันหนึ่ง (เผลอๆ คุณอาจจะเคยลิ้มลองไปแล้วโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะ) เพราะการปนเปื้อนไมโครพลาสติกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับสัตว์น้ำในอ่าวไทยหลายชนิดมาสักพักแล้ว
“78 ชิ้นต่อตัว” คือจำนวนขยะพลาสติกที่เจอในปลาทู 1 ตัว / “เส้นใย เป็นชิ้น เป็นแท่งสีดำ และกลิตเตอร์” คือลักษณะของขยะพลาสติกที่พบในปลาทูแต่ละตัว นี่เป็นข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ซึ่งเปิดเผยข้อมูลวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา
อาจจะโชคดีนิดหน่อยตรงที่ว่าไมโครพลาสติกพวกนี้อยู่แต่ในกระเพาะของปลาเท่านั้น นักวิจัยยังไม่พบในเนื้อปลา ไม่อย่างนั้นนอกจากจะมีขั้นตอนการแกะก้างปลาให้ลูกแล้ว เราคงต้องนั่งแงะไมโครพลาสติกออกจากเนื้อปลาอีกขั้นตอนด้วย
แล้วตอนนี้สถานการณ์ของเรื่องไมโครพลาสติกมันแย่มากเลยเหรอ คุณอาจจะถาม เราขอตอบด้วยเรื่องที่นักวิจัยจากภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพิ่งตรวจพบไมโครพลาสติกแบบ Polyester fiber ที่อยู่ในเสื้อผ้าและชนิดที่พบเจอได้ในขวดน้ำดื่ม ในหอยนางรมและหอยแมลงภู่
และเรื่องที่นักศึกษาระดับปริญญาเอก Patricia Blair พบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาหมึกไทยในอัตราส่วน 1 ขีดเจอเฉลี่ย 21 ชิ้น เป็นการยืนยันว่ามันเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารมนุษย์เรียบร้อยแล้ว
นอกจากชวนให้ลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) และแยกประเภทขยะแล้ว เราก็คงทำได้แค่เตือนคุณว่าเวลากินอาหารทะเล ไม่ว่าจะชนิดไหน ลองมองหาเศษพลาสติกในจานก่อนกินด้วยนะครับ เพราะเรื่องนี้มันใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิดเสียแล้วล่ะ
________________________
อ้างอิงและภาพจากเพจศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง