“วิถีจักรยาน” ไม่ได้เป็นเพียงชื่อเรียก เพื่อลดปัญหามลพิษ หรือ เพื่อให้คนมีสุขภาพดีเท่านั้น แต่ในบางประเทศ หรือ บางสังคม วิถีจักรยาน เป็นได้ถึงตัวแปรสำคัญของการพัฒนาประเทศ และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อีกด้วย
ตัวอย่างที่นำมาเสนอก็คือ ประเทศโคลัมเบียนั่นเอง
เรื่องราวนี้ เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 1998-2001 ซึ่งโคลัมเบีย มีปัญหาสังคมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพสังคมที่ด้อย อาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาวัยรุ่น ทั้งหมดนี้เกิดจากเมืองที่แออัด เหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจที่แย่ และการอยู่โดยขาดจิตสำนึกต่อกัน
โคลัมเบียมองเห็นปัญหานี้ และพยายามทำมาหลายวิถี กระทั่งได้เกิดแนวคิด ที่ตกผลึกว่า “การแก้ไขปัญหาใดๆ ต้องเริ่มที่การปรับคุณภาพชีวิตของคนให้ดีก่อน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”
โคลัมเบียเริ่มต้นด้วยคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วย การจราจร อากาศ และมลพิษ โดยเกิดโครงการ “ต่อต้านรถยนต์” เพื่อ “สร้างวัฒนธรรมจักรยาน” ขึ้นมาแทน
ผลก็คือ การจราจรที่แออัดตลอดในช่วง เวลา 7 โมงเช้า – ตี 2 เริ่มคลี่คลายลง
ผู้คนหันมาทิ้งรถ หยิบจักรยาน มาใช้ วิถีชีวิตของเมืองเปลี่ยนไปทีละนิดละน้อย ผู้คนมีสุขภาพดีขึ้น ใจเย็นลง
อาชีพใหม่ๆ จากจักรยานผุดเกิดขึ้น ทั้งทัวร์จักรยาน ขายจักรยาน ซ่อมจักรยาน สอนขี่จักรยาน ฯลฯ อื่นๆ อีกมากมาย ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าโคลัมเบียผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้อย่างสวยงาม ได้ด้วยจากการใช้วิถีจักรยานนั่นเอง