เมื่อบ่ายวันอังคารที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ภายในกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านสังคมและสุขภาวะ ได้จัดการประชุมขึ้นมาแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญเพื่อนำไปเสนอในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี ๒๕๖๒ นี้ โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ ในหัวข้อเดียวกันนี้ และจากมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เข้าร่วมประมาณ ๒๐ คน
ที่ประชุมเริ่มด้วยการสรุปการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาว่าเป็นไปอย่างไรบ้าง โดยในส่วนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและภาครัฐ เป็นนายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เน้นไปที่เส้นทางการขับเคลื่อน และในส่วนภาคประชาสังคม เป็นมูลนิธิฯ ซึ่งรับช่วงต่อจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยในการเป็นองค์กรหลักในการผลักดันเรื่องนี้ ได้เสนอบทเรียนจากการขับเคลื่อน โดยมีนายจำรูญ ตั้งกิจไพศาล ประธานมูลนิธิฯ กับ นส.อัจจิมา มีพริ้ง ผู้จัดการโครงการ เป็นผู้นำเสนอ (ดูรายละเอียดการนำเสนอใน ppt ที่แนบมาด้วย) จากนั้นก็ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น
• สำนักงานนโนบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กระทรวงคมนาคม แจ้งว่ามีการศึกษาถึงการเชื่อมต่อการเดินการใช้จักรยานกับระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๕๗ พบว่ามีจุดที่เหมาะสมถึง ๑๔๐ จุด เมื่อรถไฟฟ้าทั้งสิบสายก่อสร้างเสร็จ ได้ส่งมอบรายงานผลการศึกษาให้กรุงเทพมหานครไปแล้ว และมีการจัดทำคู่มือมาตรฐานเส้นทางจักรยานที่เหมาะสมเสร็จในปี ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและให้หน่วยงานต่างๆ นำไปปรับใช้แล้ว และเผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไปผ่านทางเว็บไซต์ของ สนข.
• กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า จากการให้นิยามชัดเจนออกมาว่า “กิจกรรมทางกาย คือการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน ทั้งในการทำงาน การเดินทาง และนันทนาการ” กระทรวงฯ และภาคีได้จัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกายออกมา และในปี ๒๕๖๑ ได้ดำเนินการต่อ จัดทำออกมาเป็นแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ๒๕๖๑-๒๕๗๓ และแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ๒๕๖๑-๒๕๗๓ ที่มีการเดินและการใช้จักรยานเป็นรูปแบบกิจกรรมทางกายที่สำคัญและสะดวกในการทำ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นต่อมาในเดือนตุลาคม (แผนทั้งสองค้นหาและดาวน์โหลดได้ทางอินเตอร์เน็ต)
• กระทรวงพลังงานแจ้งว่า ได้สนับสนุน สนข. ศึกษาการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์(คือการเดินและการใช้จักรยาน) ด้วยกองทุนพลังงาน เพื่อลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นและส่งเสริมการเดินที่ประหยัดพลังงาน หากจำเป็นต้องเดินทาง ได้รายงานสุดท้ายออกมาหนากว่า ๔๐๐ หน้า มีข้อเสนอเป็นมาตรการหลายด้าน เช่น การมีเส้นทางให้เด็กขี่จักรยานไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งการสร้าง “เมืองจักรยาน” เป็นแบบอย่างนำร่อง ซึ่งเมืองพิษณุโลกได้นำไปทำแล้วเป็นแผนสี่ระยะ (๒๕๕๙-๒๕๗๐) ขณะนี้อยู่ในระยะที่สอง
• กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กล่าวถึงคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน เป็นช่องทางที่เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานได้ มีโครงการ “๑ อปท. ๑ ถนนใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ที่สามารถนำการส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานเข้าไปบูรณาการได้ และในส่วนกองสาธารณสุขกำลังอยู่ในช่วงทำแผนปฏิบัติการ โดยจะมีการนำเรื่องการเดินการใช้จักรยานบูรณาการเข้าไปด้วย
ในส่วนมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยได้ชี้ว่า มีคนใช้จักรยานมากขึ้น ในความเป็นจริงมีคนจำนวนมากอยากเดินอยากใช้จักรยาน แต่ด้านกายภาพคือโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้พัฒนาก้าวไปรองรับ ที่สำคัญคือยังไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าปลอดภัยที่จะเดินจะใช้จักรยาน ยังขาดมาก ซึ่งบทบาทตรงนี้เป็นของหน่วยงานราชการ-องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคมไม่สามารถทำได้ ในส่วนราชการเอง การมีคณะกรรมการเป็นเรื่องดี เพราะต้องมีการประสานงานดึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับรู้และดำเนินงาน แต่ก็เกิดสภาพที่ “ขาดเจ้าภาพ” คือไม่มีบุคลากรและหน่วยงานที่รับผิดชอบงานส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานเต็มที่โดยตรง ไม่ใช่เป็นแค่งานหนึ่งที่เอาเสริมเพิ่มภารกิจหลักที่มีอยู่เดิมของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีผลต่อไปถึงการขาดการจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนการขับเคลื่อนด้วย จึงมีข้อเสนอให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้น ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเคยมีวิสัยทัศน์ว่าควรจะมีการตั้ง “กรมจักรยาน” ขึ้น แบบเดียวกับที่มี “กรมราง” มาสนับสนุนระบบราง ในขั้นต้นอาจเป็นหน่วยงานในระดับกอง แล้วค่อยพัฒนาเติบโตขึ้นไป อีกประการหนึ่ง ผลของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ ๕.๑ เมื่อปี ๒๕๕๕ นำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๔ เมื่อ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ จากสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และได้ผ่านการรับรองของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนั้นแล้ว ขณะนี้ผ่านมาเกินครึ่งทางของยุทธศาสตร์ฉบับนี้แล้ว จึงควรมีการทบทวนอย่างจริงจัง ว่าได้ดำเนินการไปอย่างไรบ้าง และจะดำเนินการอย่างไรในช่วงเวลาที่เหลือของยุทธศาสตร์นี้
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย