โทรทัศน์ NHK WORLD ในช่วงวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา รายงานข่าวว่า ขณะนี้ชาวญี่ปุ่นกำลังหันมานิยมจักรยานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดขายในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากพัฒนาการของแบตเตอรี่ที่ในขณะนี้เมื่อมีไฟเต็มสามารถขับขี่ได้ถึง 100 กิโลเมตรด้วยการชาร์จครั้งเดียวในเวลาอันสั้น และตัวแบตเตอรี่มีขนาดเล็กและเบาขึ้นมาก ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นคนในวัยกลางคนและสูงอายุที่พบว่า การมีเครื่องยนต์ไฟฟ้ามาช่วยในการขับขี่ทำให้ขี่ได้ไกลมากขึ้นและการขี่ขึ้นเนินไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป ข่าวให้ข้อมูลด้วยว่ามีการตั้งจุดหรือสถานีเติมไฟฟ้าให้จักรยานเพิ่มขึ้นมาตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นกัน อย่างจุดพักตามทางหลวงทุกแห่งมีบริการนี้ ข่าวยังเสนอตัวอย่างการส่งเสริมการใช้จักรยานไฟฟ้าในจังหวัดชิสึโอกะ ใกล้ๆกับโตเกียว ที่มีชมรมจักรยานไฟฟ้าเป็นการเฉพาะและชมรมนี้จัดกิจกรรมขี่ท่องเที่ยวทุกสัปดาห์
กระแสความนิยมจักรยานไฟฟ้าในญี่ปุ่นตามกระแสที่มีมาก่อนในทวีปยุโรปไปอย่างใกล้ชิด เช่น ใน “ประเทศจักรยาน” คือเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันจักรยานใหม่ที่ชาวดัทช์ซื้อเป็นจักรยานไฟฟ้ามากกว่าจักรยานทั่วไปที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังของผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียวแล้ว คณะของสถาบันการเดินและการจักรยานไทยที่ไปร่วมประชุมจักรยานโลก Velocity 2017 ที่เมืองไนจ์เมเก็น ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า จักรยานไฟฟ้าเป็นหนึ่งในสองประเด็นหลักที่พูดถึงกันมากที่สุดในประเทศที่มีการใช้จักรยานกันมากในทวีปยุโรป (อีกประเด็นคือ ทางหลวงสำหรับจักรยาน หรือ bicycle highway) และยังสังเกตเห็นด้วยว่าผู้สูงอายุที่นั่นใช้จักรยานไฟฟ้าแทบทั้งนั้น องค์กรจักรยานที่นั่นชี้ว่า จักรยานไฟฟ้าทำให้การใช้จักรยานยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งจำนวนคนที่ใช้และระยะเวลา/โอกาสที่ใช้ จึงเป็นปัจจัยบวกในการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นอย่างยิ่ง
สถาบันการเดินและการจักรยานไทย / ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance) และสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation) ติดตามพัฒนาการของจักรยานไฟฟ้า (คือจักรยานที่ผู้ใช้ยังต้องปั่นด้วยกำลังตนเองเป็นหลัก แต่มีเครื่องยนต์ไฟฟ้าช่วยขับเคลื่อนยามที่ต้องการพลังมากขึ้น เช่น ในการขับขี่ขึ้นเนินหรือขับขี่ทางไกล มิใช่จักรยานที่ใช้เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว แบบเดียวกับการใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งควรจัดเป็น “จักรยานยนต์” ในยุโรปมีกฎหมายที่แยกจักรยานสองประเภทนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน) และกระแสการใช้จักรยานไฟฟ้ามาโดยตลอด ด้วยเห็นว่ากระแสนี้ย่อมจะเข้ามาในไทยด้วยเช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า เพียงแต่ว่าเมื่อใดเท่านั้น และเป็นปัจจัยบวกในการส่งเสริมการใช้จักรยานในไทยเช่นกัน ผู้ผลิตจักรยานไทยบางรายก็มีพัฒนาการไปในแนวนี้แล้วด้วย
เรียบเรียงและรายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการเหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย