Home ข้อมูลความรู้ บทความ ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ญี่ปุ่น กลายเป็น “ชาติแห่งการปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน”

แปลและเรียบเรียงโดย: นนทนีย์ วิบูลย์กุล

ที่มาภาพ : https://owlcation.com/humanities/The-History-of-the-Japanese-Bicycle-Industry

หากเราพูดถึงประเทศญี่ปุ่นนอกจากเราจะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม ราเมนที่น้ำซุปอร่อยเหาะ หรือความน่ารักของผู้คนที่เป็นมิตรแล้ว แน่นอนที่สุด….เราต้องนึกถึง “จักรยาน” พาหนะแห่งชาติที่คนญี่ปุ่นเลือกใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลาย คนญี่ปุ่นใช้จักรยานเดินทางแทบจะทุกที่ตั้งแต่เดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียน ยันเดินทางไปซื้อของที่ตลาด

ซึ่งแน่นอน…ถ้าพูดถึงการปั่นจักรยานในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น หากเราวิเคราะห์กันดีๆ ก็จะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อยู่ดีๆ คนญี่ปุ่นจะลุกขึ้นมาปั่นจนมันกลายเป็นวิถีชีวิตแบบทุกวันนี้ ทุกอย่างต้องมีเหตุ และปัจจัยที่เอื้อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

หากเรามองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์จักรยานในประเทศญี่ปุ่น….. “จักรยาน” นั้นเป็นยานพาหนะที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดยเริ่มมีการใช้จักรยานในช่วงยุคฟื้นฟูเมจิ ( Meiji Restoration) ในช่วงปี ค.ศ 1860 และหลังจากนั้นจักรยานก็ค่อยๆ กลายเป็นยานพาหนะที่เข้าถึงชีวิตของคนญี่ปุ่นทุกเพศ ทุกวัย และทุกฐานะ โดยปัจจุบันรูปแบบจักรยานสุดยอดนิยมที่เรามักจะเห็นได้ทั่วไปในสังคมญี่ปุ่นนั่นก็คือ “จักรยานแม่บ้าน” หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “มามาชาริ” ซึ่งเป็นรูปแบบจักรยานที่มีตระกร้าอยู่ด้านหน้าเอาไว้ใส่ของและมีเบาะหลังไว้สำหรับผู้ซ้อนท้าย

ที่มาภาพ : https://www.japan-guide.com/e/e2210.html

โดยปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเลือกใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันอย่างแพร่หลายจนได้ขึ้นชื่อว่า “ชาติแห่งจักรยาน” มีโดยหลักๆดังนี้

ระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้า (Skytrain) รถบัส และอื่นๆ ครอบคลุมหลายพื้นที่ รวมไปถึงราคาค่าโดยสารที่ค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ต่อหัวของประชากร ดังนั้นการที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว และราคาถูก ทำให้ประชาชนเลือกใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากกว่ารถยนต์ส่วนตัวที่อาจจะต้องเสียเวลาในการหาที่จอดรถ รวมถึงราคาที่จอดรถที่มีราคาแพง และอาจต้องเสียเวลาในระหว่างการเดินทางในช่วงรถติด ดังนั้นการปั่นจักรยานจึงหนึ่งในทางเลือกที่สะดวกในการเดินทางจากที่พักเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่บ้านของคนญี่ปุ่น และสถานีรถไฟฟ้ามักจะไม่ได้อยู่ห่างกันมากนักสามารถใช้วิธีการเดิน หรือ ปั่นจักรยาน เพื่อมาเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะได้

ระเบียบและข้อจำกัดในการมีรถยนต์

การมีรถยนต์ส่วนตัวในประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนยุ่งยาก และไม่สะดวกเท่าใดนัก เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราค่าจอดรถที่ค่อนข้างแพงมาก โดยเฉพาะในตัวเมืองใหญ่ๆ ยกตัวอย่างเช่นค่า ค่าเช่าจอดรถในกรุงโตเกียวจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 เยน/เดือน และในโอซาก้าจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 เยน/เดือน และถึงแม้จะมีที่จอดรถก็ไม่ได้หมายความว่าที่จอดรถจะอยู่ใกล้ที่พักเพราะผู้ที่มีรถยนต์อาจจะต้องเดินจากที่พักไปที่จอดรถหลายนาที รวมไปถึงราคาค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา(Maintenance) และค่าประกันรถยนต์ ที่จะต้องมีหลังจากที่ซื้อรถยนต์แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการมีรถยนต์ส่วนตัวในประเทศญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เรื่องที่สะดวกสบายเท่าใดนัก การซื้อจักรยานจึงเป็นทางเลือกที่ง่าย และสะดวกมากกว่า เพราะไม่ต้องปวดหัวในเรื่องการบำรุงรักษา และหาที่จอดได้ง่าย

การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อผู้เดินเท้า และใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานจึงออกแบบมาเพื่อรองรับผู้เดินเท้า และผู้ใช้จักรยานในการเดินทาง โดยเราสามารถพบเห็น Bike Lane ในประเทศญี่ปุ่นในถนนหลายแห่ง ที่จอดจักรยานที่มีความปลอดภัยตามสถานที่ชุมชน และพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า รวมไปถึงนโยบายของภาครัฐของประเทศญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อการออกแบบ Universal Design และพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย (Safe Environment) สำหรับผู้ที่เดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

ที่มาภาพ: https://www.pinterest.com/pin/295337688050890161/

รูปแบบที่อยู่อาศัยและลักษณะผังเมือง

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด และมีประชากรอาศัยในประเทศจำนวนมาก โดยปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรอยู่ราวๆ 126 ล้านคน รูปแบบที่อยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นหากเป็นพื้นที่ในเมืองใหญ่ก็จะเป็นรูปแบบพื้นที่การค้า และที่อยู่อาศัยในรูปแบบอพาร์ทเม้นท์จำนวนมาก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ๆค่อนข้างจำกัด และลักษณะผังเมืองในประเทศญี่ปุ่นมักจะมีพื้นที่ตรอก ซอย ขนาดเล็ก ที่เชื่อมถึงกันได้ ดังนั้นการใช้จักรยานจึงค่อนข้างสะดวกในแง่ของการเดินทางในพื้น ตรอก ซอย ขนาดเล็ก และง่ายต่อการหาจอดในพื้นจอด โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองที่มีขนาดที่จำกัด และไม่มีพื้นที่สำหรับที่จอดรถยนต์มากนัก

ที่มาภาพ : https://muza-chan.net/japan/index.php/blog/glimpse-of-old-japan-tsukishima-streets

การบังคับใช้กฏหมาย

การบังคับใช้กฏหมายจราจรในประเทศญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญต่อผู้เดินเท้า และผู้ที่ปั่นจักรยาน เพราะถือว่าบุคคล 2 กลุ่มนี้เป็นผู้เปราะบาง และมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ในขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศในโลก ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ค่อนข้างให้อิสระต่อผู้ที่ปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไปคนญี่ปุ่นสามารถปั่นจักรยานไปได้แทบทุกที่ เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าการปั่นจักรยานของตนเองเป็นการปั่นจักรยานที่ไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับทรัพย์สินสาธารณะ เมื่อเปรียบเทียบกับการขับขี่รถยนต์ส่วนตัวในประเทศญี่ปุ่นที่มีบริบทการใช้กฏหมายที่ค่อนข้างเข้มงวด ทั้งในเรื่องของการจำกัดความเร็วในการขับขี่ การซื้อประกันรถยนต์ และ การบำรุงรักษา ทำให้การปั่นจักรยานดูเป็นเรื่องที่ใครๆก็สามารถเข้าถึงได้มากกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมเลือกใช้จักรยานมากกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว

ทัศนคติของประชาชน

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผู้ที่ขับรถยนต์ส่วนตัว และผู้ที่ปั่นจักรยานสามารถใช้ถนนและเส้นทางร่วมกันได้โดยสันติ และปลอดภัย หรือที่เรามักจะได้ยินคำว่า “Share the Road” กันเสมอ รวมถึงการให้ความสำคัญต่อผู้ที่เดินเท้าข้างทาง และปั่นจักรยานมากกว่าคนที่ขับขี่รถยนต์ส่วนตัว โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจจะไม่สามารถพร่ำสอนกันผ่านบทเรียน แต่อยู่ที่จิตสำนึกของคนในสังคมมองสิ่งดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่ควรกระทำ รวมไปถึงทัศนคติการมองว่า “การปั่นจักรยานเป็นเรื่องปกติ” และไม่ได้มองว่าการปั่นจักรยานคือสัญลักษณ์ของความยากจน หรือ ไม่มีเงินซื้อรถยนต์ ทำให้คนญี่ปุ่นเลือกปั่นจักรยานจนเป็นวิถีชีวิต ผนวกกับจักรยานก็เป็นพาหนะที่ช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบได้เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องรถติด และถ้าหากต้องไปทำธุระนอกบ้านระยะทางไม่ไกลมาก คนญี่ปุ่นก็เลือกที่จะปั่นจักรยาน เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ทัศนคติของคนญี่ปุ่นมองจักรยานเป็นยานพาหนะในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง

ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติจักรยานได้นั้น มีหลายปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้จักรยานมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว หากหลายๆ เมืองในโลกที่กำลังเผชิญกับการขยายตัวของพื้นที่ในเขตเมือง (Urbanization) อาจจะนำต้นแบบการพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นในการสร้างปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้คนในเมืองหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น เพราะนอกจะช่วยให้เมืองใหญ่สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น ยังเป็นหนึ่งหนทางในการป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งเกิดจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวของผู้ที่อาศัยในเขตเมือง ซึ่งการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานในการเดินทางแทนรถยนต์ส่วนบุคคลย่อมดีกับทุกฝ่าย ช่วยสร้างรูปแบบการพัฒนเมืองที่ยั่งยืนดังคำกล่าวที่มา

“ถ้าผู้บริหารเมืองมีวิสัยทัศน์ จะไม่มองจักรยานเป็นเพียงยานพาหนะ แต่จะมองจักรยานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน”

References

  1. M.William Steele. (2012). The Making of a Bicycle Nation. ที่มา : https://www.berghahnjournals.com/view/journals/transfers/2/2/trans020206.xml?ArticleBodyColorStyles=trendmd-3900
  2. Katia Sndrade, Lee Woods, and Seiichi Kagaya. (2011). Cycling in Japan and Great Britain: A Preliminary Discussion. ที่มา : https://www.researchgate.net/publication/254457577_Cycling_in_Japan_and_Great_Britain_A_Preliminary_Discussion
  3. Byron Kidd. (2012). What Make Japan a Great Cycling Nation. ที่มา: http://www.tokyobybike.com/2012/01/what-makes-japan-great-cycling-nation.html
  4. ภัทรพล เหลืองบุญชู.สาเหตุที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่มีรถเป็นของตัวเอง. ที่มา: https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/why-japanese-dont-want-own-car
  5. ข้อมูลจาก Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism, ประเทศญี่ปุ่น ที่มา: https://www.mlit.go.jp/road/road_e/s1_safety.html
Print Friendly, PDF & Email
Comments are closed.