แปลและเรียบเรียงบทความโดย : นนทนีย์ วิบูลย์กุล
เครดิตภาพ : https://www.cnu.org/
เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องรูปแบบการพัฒนาเมืองให้เป็น Walkable City กันมาบ้างแล้ว ในวันนี้มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยจึงอยากนำเสนอบทความวิชาการ จาก Congress for the New Urbanism หรือ CNU ในสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อว่า Enabling Better Places: Commercial Corridors and Shopping Centers ที่ได้บอกเล่าแนวทางการเปลี่ยนย่านชานเมืองที่แสนธรรมดาในสหรัฐอเมริกา ให้กลายเป็นย่านที่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้ามากยิ่งขึ้น โดยการที่จะเปลี่ยนพื้นที่ย่านชานเมืองให้กลายเป็นย่านที่เป็นมิตรต่อผู้เดินเท้านั้น อาจดูเป็นงานที่ยาก โดยเฉพาะย่านชานเมืองที่มีการออกแบบตามแบบผังเมืองที่เก่าและล้าสมัย ดังนั้นหากจะสร้างแนวทางการพัฒนาย่านชานเมืองที่มีประสิทธิภาพและสามารถพลิกโฉมย่านชานเมืองรูปแบบเดิมๆที่ไม่เอื้อต่อผู้เดินเท้าให้กลายเป็นเมืองเดินได้นั้น ควรมีแนวทางและทิศทางการพัฒนาพื้นที่อย่างชัดเจน มีการบูรณาการทางความคิด รวมถึงมีการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความจำเป็นสำหรับผู้ที่อาศัยในชุมชน และควรจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาตามความต้องการของประชาชนที่อยู่อาศัยพื้นที่นั้นๆ โดยในบทความดังกล่าวนำเสนอแนวทางการพัฒนาย่านชานเมืองในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้เอื้อต่อการเดินเท้ามากขึ้นดังนี้
- ต้องมีการแชร์วิสัยทัศน์ รวมถึงการร่างแผนการดำเนินงานร่วมกัน
หากต้องการพัฒนาเมืองธรรมดาไปสู่เมืองที่เดินได้ การทำงานจะต้องระบุเป้าหมายอย่างชัดเจน รวมถึงต้องมีการสร้างความเข้าใจกับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่รวมถึงคนทั่วไปรับรู้รับทราบแนวทางการพัฒนาและรูปแบบการดำเนินงาน สิ่งที่สำคัญของนักพัฒนาพื้นที่จะต้องรู้คือ คุณต้องรู้ location ที่ชัดเจนก่อนว่าคุณต้องการพัฒนาพื้นที่ตรงส่วนไหน แล้วค่อยมาหาแนวทางทีหลังว่าคุณจะพัฒนาพื้นที่ๆตรงนั้นได้อย่างไร - วิเคราะห์ทรัพยากร และ สิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย
การวิเคราะห์ หรือ ประเมิน ทรัพยากรและสิ่งที่มีอยู่ว่าในพื้นที่ๆเราต้องการพัฒนานั้นมีอะไรบ้าง นับได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญ
เพราะชุมชน-เมือง ในแต่ละพื้นที่ย่อมมีสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่แตกต่างกัน การวิเคราะห์ดังกล่าวจะช่วยให้นักพัฒนาพื้นที่ ประเมินความเป็นไปได้ โดยเฉพาะทิศทางการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากที่ได้มีการดำเนินงานแล้ว - การจัดสรรงบประมาณ/การลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐาน
การจัดสรรงบประมาณ/การลงทุนโดยภาครัฐสามารถเชื่อมโยงไปสู่การลงทุนโดยภาคเอกชนได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ ยกตัวอย่างเช่น ข้าราชการท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องคำนึงถึงการแนวทางการจัดสรรงบประมาณ/การลงทุน เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างพื้นฐานต้องเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ รวมถึงผลลัพธ์การดำเนินงานจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชุมชนและผู้ที่อาศัยในพื้นที่เป็นหลัก - การตราระเบียบหรือข้อบังคับ
การตราระเบียบหรือข้อบังคับเป็นหนึ่งแนวทางที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมได้ ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงพื้นย่านชานเมืองให้กลายเป็นพื้นที่ๆเป็นมิตรต่อการเดินเท้าได้นั้น ต้องอาศัยระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมจำนวนรถยนต์และการใช้รถยนต์ภายในพื้นที่ย่านชานเมือง และเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่เดินเท้าในย่านชานเมืองมากขึ้น การมีระเบียบหรือข้อบังคับจึงเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างเมืองที่เดินได้ให้เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามการตราระเบียบหรือข้อบังคับต้องสามารถใช้ได้จริงและครอบคลุมเสมอภาค ไม่ควรเจาะจงใช้ระเบียบหรือข้อบังคับกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม - การปรับปรุงพื้นที่ถนน
ถนน เป็นพื้นที่ๆมีส่วนสำคัญและเป็นพื้นฐาน(Fundamental) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ย่านชานเมืองที่ดูล้าสมัยให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง การปรับปรุงพื้นที่ถนนในย่านชานเมืองให้ดูสวยงามเอื้อต่อผู้ใช้งาน ย่อมมีส่วนช่วยในการดึงดูงการลงทุนในพื้นที่มากขึ้น ขยายโอกาสเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนแนวทางการใช้ถนนในรูปแบบใหม่เพื่อให้เอื้อต่อคนเดินเท้าและมีส่วนช่วยสร้าง new developable land ได้อีกด้วย - ลดพื้นที่จอดรถสำหรับรถยนต์
การออกแบบสภาพแวดล้อมในย่านชานเมืองแบบเก่าๆที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักจะหลงลืมการจัดสรรพื้นที่จอดรถให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องต่อสภาพแวดล้อม การที่จะพัฒนาและสร้างพื้นที่สำหรับการเดินเท้าให้ได้นั้น การออกแบบเมืองต้องค่อยๆลดปริมาณพื้นที่จอดรถยนต์ในย่านชานเมืองให้น้อยลง ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ที่อาศัยในชุมชนและย่านชานเมืองหันมาเดินทางด้วยการเดินเท้ามากขึ้น - เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น
สภาพแวดล้อมในพื้นที่ย่านชานเมืองโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นพื้นที่โล่งกว้างและอากาศแห้งร้อน แม้ตัวเมืองจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่แต่พื้นที่เหล่านั้นมักจะไม่ค่อยเป็นมิตรต่อผู้ที่เดินเท้าสักเท่าไหร่ ดังนั้นการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ และ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโซนพื้นที่สาธารณะ จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยสนับสนุนให้คนที่อาศัยในพื้นที่เลือกเดินเท้ามากขึ้น - เปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดิน
การหมุนเวียนใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอีกหนึ่งงานที่สำคัญ เพื่อปรับปรุงรูปแบบการใช้ที่ดินแบบเดิมที่ล้าสมัยและไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาพื้นที่ย่านชานเมืองเท่าใดนัก ดังนั้นแนวทางการปรับปรุงพัฒนาภูมิทัศน์เมืองในอนาคต จึงควรมีการนำเสนอวิสัยทัศน์สำหรับการออกแบบและพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับ Community’s Vision และคำนึงถึงผู้ที่อาศัยในเมืองอย่างแท้จริงเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น - มีการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต
ขั้นตอนการปรับปรุงการพัฒนาพื้นที่ในย่านชานเมือง โดยทั่วไปนั้นมีทั้งความยากและง่าย แต่การคาดการณ์แนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะช่วยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ เทศบาลเมือง สามารถชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ บริหารจัดการและพัฒนาผลลัพธ์จากการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของเมืองท่ามกลางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วยจากแนวทางที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการสร้าง Walkable City เป็นประเด็นที่หลายประเทศให้ความสนใจรวมถึงประเทศที่มีค่า Walk Score ค่อนข้างสูงอยู่แล้วก็ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวในการส่งเสริมรูปแบบการพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรต่อการเดินเท้าของประชาชน
ย้อนกลับมามองที่บ้านเรา….ควรมีการปรับปรุงและพัฒนาเมืองในหลายๆแห่งให้รองรับการเดินเท้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนและสามารถเดินได้จริงในชีวิตประจำวัน เพราะมิติของการเดินสามารถเชื่อมโยงทั้งในส่วนสุขภาพของประชาชน เพราะการเดินนับว่าเป็นกิจกรรมทางกายรูปแบบหนึ่งที่ช่วยลดสภาวะเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ดังเช่นบทความของ Mr.Tristan Cleveland นักผังเมืองแห่งศูนย์ Happy City ประเทศแคนาดา ผู้ศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการเดินและเศรษฐกิจเมือง ได้กล่าวให้เห็นภาพชัดว่า หลายเมืองที่พัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองที่ประชาชนสามารถเดินได้ มักมีเลข GDP ที่ค่อนข้างสูง หรือมีอัตราการบริโภคมวลรวมในเมืองที่สูงมาก ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบ และข้อเสียของเมืองที่ไม่สามารถเดินเท้าได้นั้นมักจะมีปัญหารถติด การใช้พื้นที่อย่างไม่คุ้มค่าเพราะนำพื้นที่ส่วนใหญ่ไปเป็นที่จอรถ รวมถึงประชาชนต้องเสียเวลาในการหาที่จอดรถซึ่งเป็นเวลาที่สูญเสียไปโดยใช่เหตุ ดังนั้นการสร้างเมืองที่เดินได้ให้เกิดขึ้นจริงจึงเป็นอีกแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อประชาชนที่อาศัยในเมืองทุกระดับ
References
- ชยากรณ์ กำโชค. (2562). คนยิ่งเดินเมืองยิ่งรวย เมืองเดินได้ช่วยกระจายรายได้สู่กระเป๋าผู้ค้ารายย่อย. The Urbanis by UddC. ที่มา:
https://theurbanis.com/economy/05/11/2019/251 - Robert Steuteville. (2564). Incremental steps toward pedestrian-friendly suburbs. Public Square, a CNU Journal. ที่มา: https://www.cnu.org/publicsquare/2021/01/04/incremental-steps-toward-pedestrian-friendly-suburbs