ปั่นสู้ COVID-19
แปลจาก Cycling against the COVID-19 เขียนโดย Agathe Marie เจ้าหน้าที่สื่อสาร สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) 25 มีนาคม 2020
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 มีผลกระทบต่อสังคมและวิถีชีวิตของเราทุกคนอย่างมาก การรักษาระยะห่างจากกันของแต่ละคนและอยู่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นเรื่องสำคัญมาก จึงมีคำถามใหญ่สำหรับเราผู้ใช้จักรยานว่า ในขณะที่ปฏิบัติตามคำแนะนำนี้และมาตรการกับข้อกำหนดต่างๆ ที่จำกัดการใช้ชีวิตของเรา ยังจะมีที่ว่างเหลือให้เราใช้จักรยานได้อยู่หรือไม่ ยิ่งกว่านั้นการใช้จักรยานจะช่วยในการนำมาตรการเหล่านั้นไปปฏิบัติได้หรือไม่ นั่นคือการใช้จักรยานสร้างโอกาสและให้คำตอบต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้หรือไม่ อย่างไรบ้าง
เคารพและปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่มีการแนะนำให้ทำ
แล้วแต่ประเทศ มลรัฐ จังหวัด หรือเมือง มาตรการเหล่านี้อาจมีได้ตั้งแต่การห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด (curfew) ไปจนถึงการปิดโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารประเทศ มลรัฐ จังหวัด หรือเมือง นำมาใช้เพื่อหวังหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรืออย่างน้อยทำให้ระบาดช้าลง ไม่ว่ามาตรการที่นำมาใช้นี้จะอยู่ในขั้นไหน ทุกมาตรการนำไปสู่การเสนอแนะ(หรือบังคับกะเกณฑ์)ให้ลดการเดินทางลงให้น้อยที่สุด รักษาระยะห่างระหว่างแต่ละคน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกันที่ไม่จำเป็นทั้งหมด มาตรการเหล่านี้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเราทั้งหมด และมีทางเลือกให้เราแต่ละคนสามารถหาสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตมาได้ ไปทำงานก็ต่อเมื่อจำเป็น และยังมีการออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางกายบางอย่าง รวมทั้งการออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์กลางแจ้งด้วย
ขี่จักรยานเพื่อตัวของคุณเอง
การเดินทางที่ทางการอนุญาตให้ประชาชนทำได้ต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตั้งแต่ออกจากบ้านไปหาอาหารและยาที่จำเป็น ไปจนถึงการไปสถานที่ทำงาน ทำกิจกรรมทางกาย/ออกกำลังกายบางอย่าง กระทั่งการออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ทั้งหมดจำต้องมีวิธีการในการเดินทางขนส่ง ในอังกฤษ นักวิชาการระดับแนวหน้าสิบหกคนรวมกลุ่มกันเขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาล “เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถเดินและขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัยในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้หาอ่านได้ในนิตยสาร The Forbes
ขี่จักรยานให้มีระยะห่าง – ในขณะที่ชื่นชมว่าขนส่งมวลชนสาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้า เป็นส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเรา ทุกคนที่สามารถขี่จักรยานได้ ควรขี่จักรยานสำหรับการเดินทางไปไหนมาไหนในระยะใกล้ การใช้จักรยานช่วยให้เราสามารถรักษาระยะห่างจากคนอื่นได้จากการที่เราหลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งมวลชนที่มีคนใช้แออัด ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสมาหรือแพร่เชื้อไวรัสออกไป ในทางปฏิบัติคือ ขี่จักรยานตามลำพังคนเดียว หรืออย่างมากก็ขี่กับคนที่พักอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน และหลีกเลี่ยงช่องทาง-เส้นทางจักรยานที่มีคนใช้จักรยานหนาแน่น ข้อควรปฏิบัติอีกประการหนึ่งคือ ใช้จักรยานให้ปลอดภัยโดยระมัดระวังให้มากขึ้นที่จะไม่เสี่ยงทำการใดที่อาจก่อให้เกิดการชนหรืออุบัติเหตุในเวลาที่โรงพยาบาลปรี่ล้นไปด้วยผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา
ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพทางกาย – รู้กันดีว่ากิจกรรมทางกาย/การออกกำลังกายมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการรักษาระบบภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง ขี่จักรยานออกไปเลยให้หัวใจเต้นแรงขึ้น และหายใจลึกๆ ขจัดบักเตรีออกไปจากหลอดลมและปอด ทำให้โรคเรื้อรังบรรเทาลง และเพิ่มจำนวนเม็ดโลหิตขาวไปต่อสู้กับเชื้อโรค การขี่จักรยานกลางแจ้ง(ไม่ใช่ปั่นจักรยานด้วยเครื่องในห้องปิด)ยังช่วยให้คุณได้อากาศบริสุทธิ์ด้วย
ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพทางจิต – สถานการณ์ในปัจจุบันที่เราชักจะคุ้นเคยแล้วอาจเป็นสาเหตุต้นตอให้เกิดความกังวลใจและความเครียดได้กับคนจำนวนมาก การขี่จักรยานมีส่วนช่วยในการทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ลดความเครียดได้ มีการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าคนที่ไปไหนมาไหนด้วยการใช้จักรยานมีความสุขมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะเครียดน้อยกว่า คนที่เดินทางด้วยวิธีเดินทางขนส่งอื่น
ใช้จักรยานให้ปลอดภัยและอย่างชาญฉลาด
มาใช้จักรยานสู้ COVID-19 กัน โดยดูแลตนเองและจักรยานของคุณอย่างเข้มงวดให้ปลอดเชื้อก่อนออกไปขี่ แล้วจักรยานสาธารณะที่มีให้แบ่งปันกันใช้ล่ะ? ระบบที่มีจักรยานไว้ให้แบ่งปันกันใช้เป็นทางเลือกที่สุดยอดสำหรับคนที่ไม่มีจักรยานเป็นของตนเองเสมอ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาอันไม่แน่นอนนี้ ข้อปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือการเคารพกฎในด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด หากยังมีระบบนี้เปิดให้บริการและคุณเลือกใช้ จำไว้ว่าล้างหรือฆ่าเชื้อที่มือก่อนและหลังใช้จักรยานสาธารณะ อย่าเอามือไปแตะใบหน้า และตรวจสอบแผนกับเส้นทางไว้ก่อนล่วงหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทางการขอให้เราลดการเดินทาง และเมื่อเราจะเดินทาง ก็ขอให้ทำแบบเป็นยุทธศาสตร์ คือคิดให้เป็นระบบ มีการวางแผน และลงมือทำอย่างรอบด้านรอบคอบที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นคือเดินทางออกไปจากบ้านให้สั้นที่สุด เพื่อไปหาอาหาร ยา ตอบสนองความต้องการดูแลสุขภาพทางกายและทางจิตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และรักษาระยะห่างระหว่างกันไว้ จะทำเช่นนี้ได้อย่างไร คว้าจักรยานของคุณมาใช้เลย และขอให้ทุกคนปลอดภัย !!!
หมายเหตุ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (และต่อมามูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยด้วย) เป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)