ปัจจุบันนี้เริ่มมีการใช้ขยะพลาสติกมาทำเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนหลายแห่งแล้ว เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ในระยองนี่ก็มีการทดลองทำกันบ้างแล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องดีทั้งนั้นที่นำขยะที่ใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปีมาทำให้เกิดประโยชน์ได้อีก
เรื่องที่น่าสนใจมากกว่าแปรรูปขยะเป็นทางสัญจรของเมือง Panchayat ในรัฐ Kerala ประเทศอินเดีย คือการสร้างกระบวนการการจัดการขยะพลาสติกโดยใช้ชาวบ้านให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เรียกว่าจัดการปัญหาขยะได้ด้วย แล้วยังสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นด้วย
เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องปริมาณขยะมากประเทศหนึ่งในโลก มันเยอะขนาดว่าเมืองหนึ่งของอินเดียมีกองภูเขาขยะสูงถึง 65 เมตร จนแซวกันว่าเกือบจะสูงเท่าทัชมาฮาลแล้ว
กระบวนการจัดการขยะพลาสติกของรัฐ Kerala เริ่มจากตั้งหน่วยที่ชื่อ “Kudumbashree” เพื่อเก็บขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ตามบ้านในชุมชน อย่างเช่น ผ้าอ้อมเด็กใช้แล้ว กล่องอาหารที่เลอะ ฝาขวด ท่อน้ำพีวีซี เพื่อนำขยะมาบดอัดเตรียมเป็นวัตถุดิบสำหรับทำถนน
จากการศึกษาพบว่าถนนที้ใช้พลาสติกพวกนี้เป็นตัวเชื่อมหินและกรวด มีประสิทธิภาพสูงกว่าใช้ยางมะตอยเสียอีก ทั้งในด้านความแข็งแรงและอายุการใช้งาน
ถึงตอนนี้รัฐ Kerala สร้างถนนไปแล้วกว่า 246 กิโลเมตรจากขยะพลาสติกเหลือใช้ปริมาณถึง 9700 ตัน แถมยังสร้างงานให้คนท้องถิ่นอีกเป็นพันคน เป็นการจัดการขยะระดับท้องถิ่นที่ถือว่าประสบความสำเร็จ น่าเรียนรู้และนำไปปรับใช้
…แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังยืนยันว่าการลดการใช้พลาสติกยังจำเป็นอยู่ เพราะมันเป็นต้นทางของปัญหาพลาสติกทั้งปวงนะครับ
———————————————————————
อ้างอิง & เครดิตภาพ
https://www.thebetterindia.com/183937/kerala-plastic-waste-roads-eco-friendly-employment-women-india/
https://www.facebook.com/environman.th/