เมื่อวันที่ 11-12 ธันวาคม 2561 ภาคีที่ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทยดำเนินงานส่งเสริมการใช้จักรยานในพื้นที่ต่างๆ ทุกภาคของประเทศไทยในรอบปี 2561 ได้มาร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนรู้ ท้องถิ่น ภาคี พื้นที่ดำเนินงาน และทีมปฏิบัติการสื่อ โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 10 โครงการ จำนวน 37 คน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้บริหารเมือง ประธานและตัวแทนชุมชน รวมถึงตัวแทนจากสถาบันฯ
เริ่มต้นด้วยการทำแผนที่เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ การผลักดันให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติผ่านมติเมื่อปี 2555 สนับสนุนการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มาจนถึงการที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้บรรจุเรื่องการเดินและการใช้จักรยานไว้ด้วยเป็นครั้งแรกในฉบับที่ 12 (2560-2564) และการที่องค์การสหประชาชาติประกาศในปี 2561 ให้วันที่ 3 มิถุนายน เป็นวันจักรยานโลก จากนั้นสรุปผลสำเร็จของโครงการที่เป็นรูปธรรม ปัจจัยความสำเร็จ ข้อจำกัดในการดำเนินงาน วิธีการแก้ไขอุปสรรคข้อจำกัดให้โครงการประสบความสำเร็จมากที่สุด แล้วให้ผู้ดำเนินงานแต่ละโครงการตั้งเป้าหมายของโครงการที่จะทำให้ได้จริงต่อไปในปี 2562
ประเด็นและบทเรียนที่ได้ออกมาในสองวันนี้มีมากมาย บางอย่างมีข้อสรุปชัดเจน บางอย่างก็ยังต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป เช่น อุปสรรคในด้านความยั่งยืนจากการเปลี่ยนตัวผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นระยะ แก้ไขด้วยการทำงานกับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะที่รับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือกลวิธีในการสร้างหรือเพิ่มความปลอดภัยให้กับการเดินการใช้จักรยานที่มีหลากหลาย โดยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเมื่อบริบทของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันในหลายด้าน ทำให้ต้องคิดค้นหรือเลือกรับเอาวิธีการที่สอดคล้องมาใช้ บ้างก็คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาได้เอง
ปิดท้ายการประชุมด้วยบทสรุปจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตประธานและปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสถาบันฯ ได้มานำเสนอภาพที่ให้แง่คิดต่างๆ ในการส่งเสริมการใช้จักรยาน เช่น ปัจจัยสำคัญที่คนจะหันมาใช้จักรยานหรือไม่คือความปลอดภัย ซึ่งทางจักรยานไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปของการสร้างความปลอดภัย การส่งเสริมการใช้จักรยานอาจทำได้หลายทาง บางสภาพเงื่อนไขหรือบางท้องถิ่นทำทางจักรยานไม่ได้ผล สิ้นเปลืองงบประมาณ หรืออาจก่อผลทางลบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนในพื้นที่นั้นไม่ได้ใช้หรือไม่ได้ต้องการ การส่งเสริมจะได้ผลต่อเมื่อผู้ที่มาใช้และประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ อาจเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ประหยัด ลดค่าใช้จ่าย อาจเป็นเพราะใช้ได้จริง สะดวกกว่าการใช้รถ จึงควรคิดนำจักรยานเป็นสื่อในการสร้างสังคม ต้องคิดใหญ่ มองให้เห็นความเชื่อมโยงกับหลายมิติ แต่แม้จะคิดใหญ่ก็ต้องทำไปให้สำเร็จทีละก้าว ทำให้คนเข้าใจการใช้จักรยาน สร้างให้เป็นวัฒนธรรม เป็นหลักคิดในการใช้ชีวิต สามารถเข้าถึงการใช้จักรยานได้ทั้งข้อมูล ความคิด และการปฏิบัติ และท้ายสุดต้องมีการพัฒนาจึงจะสำเร็จต่อเนื่องยั่งยืน
รายงานโดย : กวิน ชุติมา